เส้นเลือดขอดรักษาได้จริงหรือ ?
เส้นเลือดฝอยขอดเกิดจากการเสื่อมสภาพของลิ้นภายในหลอดเลือดดำ ทำให้เลือดไหลย้อนกลับไปที่ปลายเท้า และเกิดการคั่งของเลือดในเส้นเลือดดำ เมื่อระยะเวลาผ่านไป ความดันในหลอดเลือดที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดผนังหลอดเลือดมีการขยายตัว เกิดการโป่งพองของหลอดเลือด ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดตามมา
การไหลเวียนของเลือดโดยปกติ เลือดดำจะไหลเวียนไปที่หัวใจและกลับไปฟอกที่ปอด แต่ที่ขา เลือดดำจะไหลเวียนจากปลายเท้าผ่านเส้นเลือดดำที่น่อง ผ่านขา ผ่านเส้นเลือดดำใหญ่ที่ขาหนีบ เข้าสู่ช่องท้อง ช่องอก แล้วกลับสู่หัวใจ เส้นเลือดดำเป็นเส้นเลือดที่มีลิ้นอยู่ภายในเป็นระยะๆ โดยหน้าที่ของลิ้นจะช่วยให้เลือดไหลไปในทิศทางเดียวคือเข้าสู่หัวใจ และป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ โดยปกติเมื่อเรามีการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อที่ขาจะมีการหดตัว ซึ่งเป็นการช่วยให้เกิดการบีบไล่เลือดที่อยู่ในเส้นเลือดดำไหลกลับสู่หัวใจ
รูปภาพการไหลเวียนเลือดที่บริเวณขา
ที่มารูปภาพ : http://www.attkiss.com/cosmetic-vein-treatments-long-island/
เส้นเลือดขอดสาเหตุเกิดจากอะไร ?
สาเหตุการเสื่อมสภาพของลิ้น เกิดจากอายุที่มากขึ้น พันธุกรรม รวมถึง ภาวะที่ลิ้นปิดไม่สนิทจากการที่มีความดันเลือดภายในเส้นเลือดมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การนั่งหรือยืนนานๆ การตั้งครรภ์ การที่มีก้อนเนื้อในช่องท้องไปกดเส้นเลือดภายในช่องท้อง
รูปภาพภาวะที่ลิ้นปิดไม่สนิทจากความดันภายในเส้นเลือดมากกว่าปกติ
ที่มารูปภาพ : http://ehealthhall.com/venous-insufficiency-treatment-icd9-code-pictures-symptoms.html
เส้นเลือดที่เห็นผิดปกติแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
เส้นเลือดฝอยขนาดเล็ก (spider vein)
เส้นเลือดฝอยขนาดเล็กจะอยู่ในชั้นตื้นๆ เห็นเป็นเส้นเลือดสีแดงไปจนถึงสีน้ำเงิน เส้นเลือดประเภทนี้จะไม่มีอาการ แต่มีผลในแง่ความสวยงาม นอกจากที่ขาแล้ว ยังพบได้ในบริเวณอื่น เช่น ใบหน้า หน้าอก เป็นต้น
เส้นเลือดดำขนาดใหญ่ (varicose vein)
เส้นเลือดดำขนาดใหญ่ จะเห็นเป็นสีม่วงถึงสีฟ้า ในระยะเริ่มต้นจะเป็นเส้นตรงไม่คดเคี้ยว ในรายที่เป็นมากเส้นเลือดจะปูดนูนจากผิวหนัง และมีลักษณะคดเคี้ยว
ที่มารูปภาพ : https://www.bellabaci.com/spider-veins-vs-varicose-veins/
ที่มารูปภาพ : http://www.share-si.com/2016/06/blog-post_78.html
อาการที่เกิดจากเส้นเลือดขอด
- ในระยะแรก อาจจะไม่มีอาการ หรือมีเพียงแค่อาการคัน มีผื่นบริเวณผิวหนังไปจนถึงปวดเมื่อยขา เท้าปวม ซึ่งมักเป็นหลังจากการ ยืนหรือนั่งนานๆ เป็นตะคริว เหน็บชาบ่อย
- ในรายที่เส้นเลือดโป่งพองมากๆ อาจจะเกิดการฉีกขาดที่ผนังหลอดเลือดทำให้เกิดเลือดออก ในกรณีที่มีเลือดคั่งในเส้นเลือดนานๆ ทำให้เกิดลิ่มเลือดแข็งตัวในเส้นเลือดร่วมกับหลอดเลือดดำอักเสบ
- ผลจากการที่มีเลือดคั่งอยู่ในเส้นเลือดดำนานๆ ทำให้การไหลเวียนของน้ำเหลืองที่เท้าไม่ดี ส่งผลให้เกิดการบวมที่หลังเท้าในระยะแรก ตามมาด้วยการบวมที่ขา ในระยะเรื้อรัง ผิวหนังบริเวณนี้จะค่อยๆเปลี่ยนสภาพไปเป็นผิวหนังที่แข็งขึ้น เป็นแผลได้ง่าย และมักจะเป็นแผลเรื้อรัง หายช้า
ที่มารูปภาพ : http://ehealthhall.com/venous-insufficiency-treatment-icd9-code-pictures-symptoms.html
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดฝอยขอด
- อายุ เมื่ออายุมากขึ้น ความยืดหยุ่นของเส้นเลือดจะลดลงเนื่องจากมีความเสื่อมของเส้นใยอิลาสติกที่ผนังเส้นเลือด รวมถึง ความแข็งแรงของลิ้นในเส้นเลือดที่ลดน้อยถอยลงเมื่ออายุมากขึ้น
- เพศ ผู้หญิง มีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงมีผลทำให้ผนังเส้นเลือดคลายตัว ดังนั้น ในช่วงการตั้งครรภ์ การทานยาคุมมีผลทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้มากกว่าปกติ นอกจากนี้ ในระยะที่อายุครรภ์มากขึ้น ขนาดมดลูกโตขึ้น มีการกดเส้นเลือดดำในช่องท้อง ส่งผลให้เลือดดำจากขา ไหลผ่านช่องท้องเพื่อกลับไปที่หัวใจได้ยากขึ้น
- กรรมพันธุ์ ในครอบครัวที่มีประวัติเรื่องเส้นเลือดขอด คนในครอบครัวเดียวกันก็มีโอกาสเป็นโรคมากกว่าครอบครัวที่ไม่มีประวัติ
- น้ำหนักตัว คนอ้วน มีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดมากกว่า เนื่องจากน้ำหนักตัวมีผลต่อความดันในเส้นเลือดดำที่ขา
- ภาวะการยืนหรือนั่งนานๆ ทำให้การไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดลดลง จากการที่กล้ามเนื้อน่องและกล้ามเนื้อขาไม่เคลื่อนไหว ทำให้เลือดคั่งในเส้นเลือดมาก ความดันในเส้นเลือดก็จะสูงขึ้น โดยมากจะพบในอาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งนานๆ เช่น ศัลย์แพทย์ ครู ทหาร ช่างทำผม เป็นต้น
- ภาวะที่มีความดันในช่องท้องมากกว่าปกติ ส่งผลให้เลือดดำจากส่วนขาไม่สามารถไหลเวียนผ่านเส้นเลือดในช่องท้องได้อย่างสะดวก เช่น การตั้งครรภ์ ภาวะท้องผูกเรื้อรัง การที่มีเนื้องอกหรือก้อนในช่องท้อง เป็นต้น
วิธีการรักษาเส้นเลือดขอดที่ไม่ใช่การผ่าตัด
ถุงน่องสำหรับรักษาเส้นเลือดขอด (Compression stocking)
เป็นการรักษาในรายที่เป็นเส้นเลือดขอดหรือเส้นเลือดฝอยมีขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร จุดประสงค์เพื่อป้องกันเส้นเลือดขอดไม่ให้เกิดใหม่ ถุงน่องประเภทนี้จะรัดแน่นบริเวณข้อเท้า โดยมีความดันที่ 20 – 25 mmHg ส่วนบริเวณ น่องและเข่า ความดันในการรัดจะค่อยๆลดลง การสวมถุงน่องจะช่วยรัดให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น ควรสวมถุงน่องตลอดทั้งวัน ยกเว้นตอนนอน (ตอนนอน ควรหนุนปลายเท้าให้สูงกว่าศีรษะ 30 องศา)
การสวมถุงน่อง มีประโยชน์ในกรณีที่เป็นเส้นเลือดขอดในระยะเริ่มต้น หรือใช้ร่วมกับการรักษาโดยวิธีอื่น จุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้อาการเป็นมากขึ้น การสวมถุงน่องไม่สามารถรักษาหรือกำจัดเส้นเลือดขอดที่มีอยู่หายไปได้
ที่มารูปภาพ : http://www.laserveinclinic.ca/home/compression-socks-stockings
รูปภาพถุงน่องรักษาเส้นเลือดขอด
ที่มารูปภาพ : http://www.bramptonfootclinic.com/compression-stockings/
*ข้อควรระวังในการสวมถุงน่อง คือ แรงรัดที่มากเกินไป อาจจะกดเส้นเลือดแดงที่ข้อเท้า ทำให้เกิดภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงเท้า ต้องระวังในคนที่มีปัญหาหลอดเลือดแดงอุดตัน หลังการสวมถุงน่อง ควรตรวจคลำชีพจรของหลอดเลือดแดงที่หลังเท้าทุกครั้ง
การรักษาโดยการฉีดยาสลายเส้นเลือดขอด (Sclerotherapy)
คือ การฉีดยาเพื่อทำให้เกิดการสลายเส้นเลือด โดยการทำให้เกิดการทำลายผนังหลอดเลือดของเส้นเลือดขอด เส้นเลือดที่โป่งพองจะเกิดการอักเสบ ตีบแคบลง หลังจากการฉีด 2-3 สัปดาห์ เส้นเลือดขอดก็จะยุบและหายไป
การรักษาโดยการฉีดยา สามารถทำได้ในเส้นที่มีขนาดน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร โดยที่ยังไม่มีความผิดปกติของลิ้นในเส้นเลือดขนาดใหญ่ หรือใช้ฉีดเส้นเลือดขอดที่ยังเหลือหลังการผ่าตัดเส้นเลือดขอดเส้นใหญ่
ภายหลังการฉีดยารักษาผู้ป่วยควรเดินอย่างต่อเนื่องประมาณ 30 นาทีทันทีหลังการฉีดยา เพื่อช่วยให้ยากระจายตัวได้ดีขึ้น และควรสวมถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาฉีดให้ได้ผลดี โดยควรสวมติดต่อกันอย่างน้อย 5-7 วัน (ยกเว้นในกรณีที่อาบน้ำ)
ข้อห้ามในการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำ คือ การมีประวัติการแพ้สารที่ใช้ฉีด มีเส้นเลือดอักเสบ หรือเส้นเลือดขอดมีขนาดใหญ่ร่วมกับปัญหาเส้นเลือดดำส่วนลึก
การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง (Dermatologist) และรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยคือประมาณ 3-4 ครั้งต่อข้าง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1.5-2 เดือน ซึ่งจำนวนครั้งในการรักษาขึ้นกับปริมาณเส้นเลือดขอดที่เป็นด้วย
วิธีนี้เป็นการรักษาที่ไม่หายขาด ในระยะยาวอาจมีการกลับมาเป็นซ้ำของเส้นเลือดขอดได้อีก ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงที่มี
ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการฉีด พบได้ไม่บ่อย แต่อาจเป็นอันตรายรุนแรงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและความเข้มของยา
- บริเวณที่ฉีดอาจมีอาการปวด บวมแดง มีเลือดออก หรือมีรอยจ้ำเขียวจากการมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ซึ่งจะหายไปได้เอง
- อาจเกิดรอยคล้ำตามแนวเส้นเลือดที่ฉีด ซึ่งจะค่อย ๆ จางหายไปได้เองเช่นกัน
- อาจเกิดอาการแพ้ยาที่ฉีด โดยในรายที่เป็นไม่มากอาจมีแค่อาการคันหรือมีผื่น แต่ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนทำให้เสียชีวิตได้
- ในกรณีที่ฉีดยาไม่เข้าเส้นเลือดอาจเป็นเหตุทำให้ผิวหนังมีสีเข้มขึ้นหรืออาจเกิดแผลบริเวณผิวหนังได้
- การฉีดยาในปริมาณมากอาจทำให้เกิดเส้นเลือดอักเสบได้
รูปภาพการฉีดยาสลายเส้นเลือดขอด
ที่มารูปภาพ : https://www.avva.net/veins/spider/
รูปภาพการฉีดยาสลายเส้นเลือดขอด
ที่มารูปภาพ : http://www.miamiskinandvein.com/sclerotherapy/
การรักษาโดยใช้เลเซอร์ (Laser)
ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางด้านเลเซอร์ สามารถนำมารักษาเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กได้ โดยแสงความยาวคลื่น 1064 นาโนเมตร (nm) เป็นช่วงที่สามารถนำมาทำลายเส้นเลือดขนาดเล็กไม่เกิน 3 มิลลิเมตรได้ สามารถนำมารักษาเส้นเลือดฝอยได้ทั้งบริเวณใบหน้าและที่ขา
หลักการของการรักษา คือการใช้แสงเลเซอร์ยิงผ่านผิวหนังชั้นบน เมื่อแสงผ่านไปที่เส้นเลือด เม็ดเลือดแดงจะดูดแสงเลเซอร์ทำให้เกิดความร้อน ความร้อนที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้เกิดการทำลายผนังเส้นเลือดตามมา ในขณะที่ทำผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่ต้องใช้ยาชาเฉพาะที่
ทันทีหลังการรักษาผิวหนังบริเวณที่ทำการรักษาจะมีอาการบวมแดงเล็กน้อย ซึ่งมักจะหายไปได้เองภายใน 24 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 2-3 วัน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดรอยช้ำหรือผิวหนังไหม้พองได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีผิวคล้ำ ซึ่งรายละเอียดสามารถปรึกษาได้กับแพทย์ผู้ทำการรักษา
ส่วนใหญ่การรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องทำหลายครั้ง (ทุก ๆ 6 – 12 สัปดาห์) ซึ่งจำนวนครั้งของการเข้ารับการรักษาจะขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และความลึกของเส้นเลือด และผู้ป่วยแต่ละรายอาจตอบสนองต่อการรักษาได้แตกต่างกันไป ดังนั้น จำนวนครั้งที่ทำจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเป็นหลัก
*ข้อจำกัดของการทำเลเซอร์ คือ ไม่สามารถรักษา เส้นเลือดที่มีขนาดใหญ่ คดเคี้ยวได้
การป้องกันการเกิดโรคเส้นเลือดขอด การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ความดันในหลอดเลือดดำที่ขาเพิ่มขึ้น ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งนานๆ ควรขยับ เคลื่อนไหว เท้า,ขา เพื่อให้กล้ามเนื้อช่วยบีบรัด ช่วยให้เกิดการไหลเวียนของเลือดเลือด
- ลดน้ำหนัก ในรายที่น้ำหนักตัวมาก
- ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น
- ไม่ใส่รองเท้าส้นสูง เลือกใส่รองเท้าส้นเตี้ยซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ดีกว่ารองเท้าส้นสูง
- สวมถุงน่องป้องกันเส้นเลือดขอด
- ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง
บทความโดย นพ.อภิยุช เนตตกุล
ตารางเวรเเพทย์ สามารถค้นหา (Search) ชื่อเเพทย์หรือสาขา