เรื่องของสิว

สิว คือโรคผิวหนังที่เกิดการอุดตันเฉพาะบริเวณรูขุมขนที่มีต่อมไขมัน (Sebaceous Gland) มีเฉพาะในตำแหน่ง ศีรษะ หน้า หู หน้าอก คอ ไหล่ และหลังเท่านั้น นอกเหนือจากบริเวณนี้ไปจะไม่ใช่สิว แต่อาจเป็นการอักเสบของรูขุมขนบริเวณนั้น

 

สิวเกิดจากอะไร ?

สิวก็คือขี้ไคล (Keratin) ที่สะสมหนาตัวขึ้น จากความไม่สมดุลของระบบในรูขุมขนที่มีต่อมไขมันขนาดใหญ่ จนทำให้ไปอุดตันรูขุมขนเป็นตุ่มโคมีโดน (Comedone) และเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย P.acnes ก็ทำให้เกิดการอักเสบ มีลักษณะนูน บวมแดง และเกิดหนองได้ในที่สุด

งานวิจัยเชิงลึกจากการวัดระดับน้ำมันในรูขุมขนของคนที่เป็นสิวและไม่เป็นสิวพบว่า คนที่เป็นสิวจะมีไลโนเลเอต (Linoleate) ซึ่งช่วยในการทำงานของรูขุมขนน้อยกว่าคนที่ไม่เป็นสิว (ในการเกิดสิวนั้น เชื่อว่า เป็นความผิดปกติด้านคุณภาพและคุณลักษณะของน้ำมันที่ต่อมไขมันสร้างขึ้น ไม่ใช่ปริมาณ คนที่หน้ามันมากๆ มักจะเป็นสิว เพราะเมื่อต่อมไขมันต้องทำงานหนัก อาจจะสร้างน้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพ ในทางกลับกัน บางครั้งแม้ต่อมไขมันจะทำงานหนักมากๆ แต่ยังสามารถสร้างน้ำมันได้คุณภาพสมบูรณ์ ก็จะเป็นคนหน้ามันที่ไม่เป็นสิว คำถามนี้ มีน้องๆ ถามหมออยู่ตลอดว่าทำไมเพื่อนหนูหน้ามันแต่ไม่เห็นเป็นสิวเลย) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของความไม่สมดุลของภาวะแวดล้อมในรูขุมขนจนเกิดเป็นสิวนั่นเอง ดังนั้น สิวจึงเป็นได้ทั้งคนที่หน้ามันและหน้าไม่มัน สิ่งใดที่มีผลกระทบรบกวนระบบน้ำมันในรูขุมขน ก็สามารถทำให้เกิดสิวได้ สิ่งที่มากระทบอาจเป็นปัจจัยที่มาจากภายในตัวคนไข้ หรือปัจจัยภายนอกที่มากระทบภาวะแวดล้อมในรูขุมขนก็ได้

 

ปัจจัยภายใน

ปัจจัยภายในที่สำคัญที่สุดคือ ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ที่สูงขึ้นในวัยรุ่นเพื่อทำให้ร่างกายเติบโต จะไปกระตุ้นต่อมไขมัน (Sebaceous Glands) ให้โตและทำงานมากขึ้น โดยกรรมพันธุ์จะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญและมีผลกับการเป็นสิวอย่างมาก การที่เด็กเล็กๆ ยังไม่เป็นสิวเป็นเพราะต่อมไขมันในร่างกายยังไม่โตเต็มที่ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการเจริญเติบโต ซึ่งต่อมไขมันก็จะเจริญเติบโตตาม

มีบางภาวะที่ฮอร์โมนสูงกว่าปกติมากๆ (Hyper Androgen) คนไข้นอกจากจะมีสิวแล้ว จะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น จะมีลักษณะผมบาง ผมมัน หน้ามัน ผิวหยาบ มีหนวด และคอเป็นปื้นๆ สีดำ ในผู้หญิงอาจพบว่ามีประจำเดือนผิดปกติด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะต้องตรวจเพิ่มเติมเรื่องของฮอร์โมน

 

ปัจจัยภายนอก

เช่น เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของสารที่สามารถก่อสิว (Comedogenic substance) โดยพบว่าสารเคมีชนิดนี้รบกวนระบบในรูขุมขน ทำให้เกิดการสร้างชั้นขี้ไคลที่ผิดปกติ กลายเป็นเม็ดอุดตันได้ (Comedogenesis) เหมือนกันกับที่ฮอร์โมนทำ แนะนำให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า Non-comedogenic

สำหรับการแต่งหน้า ควรเลือกแป้งเป็นสูตรธรรมดา มีสีได้ (เช่น สีเนื้อปัดหน้า สีชมพูปัดแก้ม)โดยหลีกเลี่ยงแป้งที่มีส่วนผสมของรองพื้นและกันแดด

 

สิวมีกี่ประเภท

สิวมีประเภทเดียว คือ “สิวอุดตัน” แต่เมื่อเม็ดอุดตันเป็นเวลานาน ก็จะทยอยอักเสบ แต่ลักษณะการอักเสบของแต่ละคนจะต่างกันไป รวมถึงขนาดของการอักเสบก็ยังต่างกันออกไป

  • สิวผด มีลักษณะเป็นเม็ดนูนเล็กๆ คล้ายกับผดผื่นขนาดเล็ก มักขึ้นบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าผาก จะยังไม่เห็นชัดเจน ซึ่งจริงๆแล้วเป็นสิวอุดตันที่เพิ่งเริ่มเกิด หรือสิวอุดตันระยะแรก (Microcomedone)

  • สิวอักเสบ จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเพิ่มจำนวนของเชื้อโรคในเม็ดอุดตัน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะเข้ามาทำลายหัวอุดตันและเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ข้างใน ทำให้มีการบวมแดงอักเสบเกิดขึ้น การอักเสบอาจจะมากน้อยต่างกันในแต่ละบุคคล ส่วนสิวหัวช้าง เป็นอาการอักเสบระดับรุนแรง โดยมีลักษณะบวมแดงอย่างเห็นได้ชัด ในบางรายอาจมีทั้งหนองและเลือดปะปนกันอยู่ในเม็ดเดียว แน่นอนว่าสร้างความรู้สึกเจ็บปวดไม่มากก็น้อย ยิ่งอักเสบมากก็ยิ่งทิ้งรอยแผลเป็นมาก

เม็ดตุ่มที่อาจถูกเรียกว่าสิว  แต่ไม่ใช่สิว มีหลายชนิด ในกลุ่มนี้จะไม่มีการอักเสบ เช่น

  • สิวข้าวสาร มีลักษณะเป็นเม็ดกลมขาวแข็งคล้ายเม็ดมุกเล็กๆ เป็นซีสต์ของท่อเหงื่อ

  • สิวหิน เป็น ตุ่มขนาดเล็กนูนๆ สีเนื้อบนผิว ทางการแพทย์จะเรียกสิวหินว่าเป็นเนื้องอกของท่อเหงื่อ แต่ไม่ถึงขั้นลุกลามไปเป็นเนื้อร้ายอื่นได้ เกิดได้ทั้งจากกรรมพันธุ์และโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคอลลาเจน เช่น Marfan’s syndrome เป็นต้น
  • สิวเสี้ยน จุดดำๆ ยอดนิยมที่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ทุกคนต้องมี ลักษณะเป็นจุดสีดำ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบริเวณจมูก แก้ม และใต้คาง ไม่ใช่หัวอุดตัน ที่จริงเป็นขนขนาดสั้นและเล็กกว่าขนปกติ กระจุกอยู่หลายๆ เส้นในรูขุมขนเดียวกัน

การใช้ยารักษาสิวต้องรักษานานเท่าไร

เพื่อประโยชน์ในการรักษาและป้องกันควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาว่าเหมาะสม โดยมากควรใช้ยาทาต่อเนื่องนานพอควรเพื่อผลที่ดีและป้องกันการเกิดซ้ำ ระยะเวลาที่ได้ผลจากยาทาใช้เวลานานกว่าการรับประทานยาหรือฉีดยาควบคู่ไปด้วย กรณีเป็นไม่มากหรือมีผื่นร่วมด้วย หากได้ยาทาที่เหมาะสมก็สามารถดีขึ้นได้รวดเร็วภายในหนึ่งสัปดาห์

แต่กรณีมีสิวอักเสบเยอะหรือมีสิวอุดตันร่วมด้วยจำนวนมาก การใช้ยาทาเพียงอย่างเดียวก็มักจะไม่ได้ผลเร็วหรือไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร อาจใช้เวลาเป็นเดือนเมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้ยารับประทานหรือฉีดยา (ที่จะดีขึ้นเร็วภายในหนึ่งอาทิตย์) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังที่ดูแลรักษาจะเป็นผู้ประเมินและแนะนำ รวมถึงทำการรักษาและปรับเปลี่ยนการใช้ยาตามความเหมาะสม

 

รักษาไม่หาย เลี้ยงไข้หรือเปล่า

อย่างที่ได้กล่าวเบื้องต้นว่า สิวเป็นภาวะหรือโรคที่มีปัจจัยและสาเหตุกระตุ้นหลายประการ การรักษาสิวที่ถูกต้องเหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยให้อาการของโรคทุเลาและหายได้ในเวลารวดเร็ว การใช้ยาทาและยารับประทาน หรือการรักษาร่วม เช่น ฉีดยา การกดสิว หรือการทำเลเซอร์รักษาสิว จุดประสงค์คือ เพื่อให้สิวหายได้เร็วที่สุด เพื่อลดการเกิดผลข้างเคียงหรือผลเสียที่จะเกิดตามมาหลังการกำเริบของสิว ได้แก่ แผลเป็นหลุม รอยแดงรอยดำ การรักษาสิวในหลายๆ วิธีดังกล่าวยังป้องกันสิวขึ้นซ้ำอีกด้วย

แต่ตราบใดที่ผู้ที่เป็นเจ้าของใบหน้าไม่ลดปัจจัยเสี่ยง หรือมีปัจจัยกระตุ้นอื่นที่ทำให้เกิดสิว ได้แก่ ความเครียด การมีประจำเดือนหรือประจำเดือนมาผิดปกติ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเครื่องสำอางที่อุดตันรูขุมขนหรือมีสารระคายเคือง คนไข้ก็สามารถกลับมาเป็นสิวซ้ำได้ตลอด ดังนั้น การรักษาสิวจึงไม่ใช่หน้าที่ของแพทย์ผู้รักษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้เป็นสิวด้วยในการที่จะป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้สิวกลับมาเป็นซ้ำ การมีวินัยในการใช้ยาเพื่อทุเลาอาการ การดูแลรักษาสิวที่ถูกต้อง จะลดความเสียหายที่จะเกิดกับผิว อาทิ รอยแดงดำ หลุมสิว ซึ่งอย่างหลัง (หลุมสิว) รักษายากกว่าการเป็นสิวมาก

 

จะหยุดยาเองได้หรือไม่ ถ้าสิวหายแล้ว

คุณสามารถหยุดยาได้เลยเมื่อสิวหายแล้ว แต่หากยังมีโอกาสหรือปัจจัยเสี่ยงในการกระตุ้นให้เกิดสิว สิวก็สามารถกลับมาได้อีก เปรียบเสมือนคุณหายจากการเป็นหวัด แล้วคุณไปตากฝนอีก คุณก็สามารถกลับมาเป็นหวัดได้อีก

ดังนั้น การใช้ยาก็เพื่อป้องกันบรรเทาไม่ให้เกิดสิวขึ้นให้กังวลใจอีก การใช้ยาทาหรือยากินเพื่อป้องกันการเกิดสิวได้แก่ กลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอและยาปรับฮอร์โมนเพื่อลดการผลิตไขมัน Sebum ที่ก่อสิวก็จะช่วยให้ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อลดโอกาสเกิดสิวซ้ำๆ จนเกิดแผลเป็นและหลุมสิวที่แก้ได้ยาก

 

เลเซอร์กับยาทา ตัวไหนดีกว่ากัน

การเลือกทำเลเซอร์รักษาสิว หรือใช้ยารักษาสิว ขึ้นกับความต้องการผลในการรักษาของคนไข้ว่าต้องการผลการรักษาที่รวดเร็วแค่ไหน ยาทาที่เกี่ยวกับการรักษาสิวมีทั้งยาทาที่ช่วยลดการอักเสบ ยาทาป้องกันการเกิดสิวอุดตัน และยาทาป้องกันการอักเสบของสิว ยารักษาสิวอุดตัน การทายาจะต้องใช้เวลามากกว่าการใช้ยารับประทานควบคู่ไปด้วย การรักษาสิวอักเสบโดยการกินยาและหรือฉีดยาจะหายเร็วกว่า ส่วนการทำเลเซอร์เพื่อรักษาสิวอุดตัน (Co2) จะสามารถรักษาสิวอุดตันได้ดี มีประสิทธิภาพสูงกว่าและรวดเร็วกว่าการยาทาเป็นอย่างมาก

ในกรณีที่ต้องการรักษาเพื่อลดรอยแผลเป็นรอยแดงดำที่เกิดจากสิว การใช้เลเซอร์ (E-Lase) เพื่อรักษา ได้ผลการรักษาที่ดีและรวดเร็วกว่ายาทาเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สิวเป็นภาวะเรื้อรังและมีปัจจัยกระตุ้นหลายประการ การรักษาแบบผสมผสานถือว่าเป็นการรักษาที่ได้ประโยชน์สูงสุด

 

บทความโดย
พญ.ปิยะดา ทิพรังกร
พญ.ประสมศรี สวัสดิ์อำไพรักษ์
ตารางเวรเเพทย์ สามารถค้นหา (Search) ชื่อเเพทย์หรือสาขา

icon