ตาปลารักษาอย่างไร
หลายคนอาจสงสัยว่าตุ่มนูนๆแข็งๆที่มักเกิดขึ้นบริเวณฝ่าเท้าและส้นเท้านั้นมันคืออะไร บางคนก็บอกว่าเป็นตาปลาบางคนก็บอกว่าเป็นหูด ความจริงแล้วทั้ง 2 โรคนี้มีความแตกต่างกัน ซึ่งมองผิวเผินบางครั้งถึงกับแยกไม่ออก
ความแตกต่างระหว่างหูดและตาปลา
- ตาปลา ( Callus or corn) ลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนแข็ง เกิดจากการเสียดสีของผิวหนังบริเวณชั้นหนังกำพร้ามานาน ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
- หูด เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ Human papilloma virus (HPV) โดยเชื้อไปกระตุ้นเซลล์ผิวหนังให้แบ่งตัวเพิ่มขึ้น จนเป็นก้อนหรือตุ่มแข็งๆ
- เมื่อใช้ใบมีดลองฝานก้อนแข็งบางๆ จะพบว่าจะมีจุดเลือดออกเล็กๆใต้ผิวหนังคล้ายกับรากหูด ส่วนตาปลาจะไม่พบจุดเลือดออกเหมือนหูด
- อาการเจ็บ โดยเฉพาะเวลาเดินเกิดจากตุ่มหรือก้อนแข็งเข้าไปกดทับกระดูกหรือเส้นประสาท ฉะนั้นอาการเจ็บเจอได้ทั้งหูดและตาปลา
- ตาปลาไม่ใช่โรคติดต่อต่างกับหูด หากมีรอยถลอกหรือแผลแล้วไปสัมผัสกับหูด เชื้อไวรัสจากหูดสามารถผ่านรอยถลอกหรือแผลทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อหูดได้
การรักษาตาปลา
- ทายาที่มีคุณสมบัติช่วยผลัดเซลล์ผิวหรือค่อยๆลอก เช่น Duofilm โดยก่อนทายาบริเวณตาปลาควรทา petroleum gel ที่ผิวหนังรอบๆตาปลาก่อนเพื่อป้องกันผิวหนังบริเวณที่ปกติโดนยา แล้วค่อยแต้มยาลงบนตาปลา จากนั้นปิดแผ่นพลาสเตอร์ทับเพื่อให้ตัวยาสัมผัสกับตาปลาได้ดียิ่งขึ้น
- ใช้วิธีการผ่าตัดหรือเลเซอร์จี้ออกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สะดวกรวดเร็ว แต่ต้องดูแลรักษาแผลเป็นอย่างดีหลังจากการรักษาด้วย
วิธีป้องกันตาปลา
การป้องกันตาปลาโดยเฉพาะที่เท้าซึ่งเป็นบริเวณที่ตาปลาเกิดขึ้นได้มากที่สุด วิธีที่ดีที่สุดคือการเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับเท้าไม่คับเกินไปหรือหลวมเกินไป และสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานก็ควรลดน้ำหนักลงเพื่อลดการเสียดสีของผิวหนังกับสิ่งสัมผัส ส่วนตาปลาที่มือก็ควรสวมถุงมือหนาๆเวลาที่ต้องทำงานที่รับแรงเสียดสีลงจะช่วยป้องกันการเกิดตาปลาได้
บทความโดย พญ.สุณี เจริญหิรัญยิ่งยศ
ตารางเวรเเพทย์ สามารถค้นหา (Search) ชื่อเเพทย์หรือสาขา คลิก>>