PM 2.5 ฝุ่นละอองร้ายทำลายสุขภาพ
ปัจจุบันมลพิษในอากาศ (Airborne Particulate Matter Pollution) เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ พบว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานกระจายหลายพื้นที่
PM ย่อมาจาก Particulate Matter ส่วน 2.5 มาจากขนาดของฝุ่นอนุภาคที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน โดยรวมจึงเรียกว่า PM 2.5 ส่วนใหญ่ประกอบด้วยสารคาร์บอน ไนเตรทและซัลเฟต สารนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการหายใจ จึงเพิ่มความเสี่ยงให้เราเป็นโรคหลอดลมอักเสบ หอบหืด มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ
นอกจากนี้สารคาร์บอน มีคุณสมบัติละลายได้ดีในน้ำมัน จึงสามารถแทรกซึมเข้าไปทางผิวหนัง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผิวหนังทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเพิ่มการหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบที่ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคันที่ผิวหนัง กระตุ้นให้ผื่นผิวหนังกำเริบมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังเดิมอยู่แล้ว เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง สะเก็ดเงิน รวมถึงสิว เมื่อสารนี้ทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับผิวหนัง ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิวเช่น เกิดริ้วรอย ทำให้ผิวหมองคล้ำ เกิดจุดด่างดำ พบว่าความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้น และระยะเวลาของการสัมผัสฝุ่นมลพิษ
เราควรปกป้องผิวหนังให้สัมผัสฝุ่น PM 2.5 น้อยที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาโรคผิวหนัง และกลุ่มที่มีความต้านทานของผิวหนังน้อย เช่น เด็กหรือผู้สูงอายุ ควรงดเว้นการออกไปในบริเวณที่มีปริมาณฝุ่นมลพิษมาก สวมชุดที่สามารถปกคลุมร่างกายไม่ให้สัมผัสกับฝุ่นโดยตรง สวมหน้ากากอนามัย N95 หรือใช้หน้ากากอนามัย Surgical mask ร่วมกับกระดาษทิชซู่รองด้านใน 1-2 ชั้น จะสามารถช่วยกรองฝุ่นได้ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานผักผลไม้หลากสีซึ่งจะมีสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อต่อสู้กับมลภาวะได้ ทาครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด การชะล้างทำความสะอาดผิวหนัง จะช่วยลดการสัมผัสโดยตรงต่อฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ได้