อาการหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนัง
เป็นโรคในกลุ่ม Psychocutaneous dermatosis ซึ่งเป็นอาการหลงผิดชนิดหนึ่ง เรียกอีกชื่อว่า Ekbom Syndrome ตามหลังแพทย์ผู้ค้นพบโรคนี้ท่านแรก คือ Karl Axel Ekbomb ในปี 1938
ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักจะมีความเชื่อว่า ตัวเองถูกเจาะ กัด ไต่ตามผิวหนังบริเวณลำตัว และหนังศีรษะ ด้วยแมลง หิด ไร หรือ พยาธิ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการสำคัญว่ามีแมลงหรือตัวพยาธิออกมาจากผิว และมักถือถุง, กระดาษห่อเศษผิวหนัง สะเก็ด ขนสัตว์ พืช หรือสิ่งที่ผู้ป่วยเข้าใจว่าเป็น ตัวแมลง หรือไข่แมลงเหล่านั้นมาให้แพทย์เป็นหลักฐาน และยืนยันว่ามีตัวแมลงเหล่านั้นจริง ทางผิวหนังเรียกหลักฐานนี้ว่า Matchbox Sign
จากการศึกษา มักพบผู้ป่วยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเป็นสัดส่วน 3:1 อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยอยู่ที่ 57 ปี ซึ่งสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย และมักมีโรคทางจิตเวชร่วมด้วย โดยโรคที่พบมากที่สุดคือ โรคซึมเศร้า โดยผู้ป่วยมักแสดงอาการย้ำคิดย้ำทำที่จะทำลายตัวปรสิตนั้นออกไป ส่วนมากคือการแกะเกา ใช้เล็บ หรืออุปกรณ์ที่สามารถหาได้ ขุดตามผิวหนังหรือหนังศีรษะ ทำให้มีแผลตามบริเวณลำตัว หนังศีรษะ และในทุกบริเวณที่มือของผู้ป่วยเอื้อมถึงได้ บางรายอาจใช้ยาฆ่าแมลงราดหรือใช้ไฟลน ทำให้ผู้ป่วยสามารถมาพบแพทย์ด้วยรูปแบบทางผิวหนังที่แตกต่างกันไป
อย่างไรก็ตาม แพทย์ผิวหนังจะตรวจโดยละเอียดก่อนว่า ผื่นที่เกิดและอาการคันจนเป็นสาเหตุให้แกะเกาจนเกิดแผลนั้นไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง ทั้งยังต้องตรวจสอบสิ่งที่เรียกว่า Matchbox Sign ว่าไม่ได้เป็นตัวปรสิตก่อโรคจริง โดยเฉพาะหิดและโลน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการคันทางผิวหนังที่พบได้บ่อย แพทย์จะเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะผู้ป่วย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยไม่ได้มีโรคแทรกซ้อนทางร่างกายที่ทำให้มีอาการคันผิวหนัง ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดคือโรคตับ โรคไต โรคเลือด ไทรอยด์เป็นพิษ หรือเสพสารเสพติดที่ทำให้เกิดอาการคันทางผิวหนังได้ เมื่อให้การวินิจฉัยแล้วแม้ผู้ป่วยมักมีปัญหาทางด้านจิตเวชร่วมด้วย แพทย์ผู้รักษาจะไม่แจ้งผู้ป่วยตั้งแต่ต้นว่าผู้ป่วยหลงผิดเข้าใจไปเองหรือไม่มีพยาธิ ทั้งนี้ไม่ควรให้การปฏิเสธสิ่งที่ผู้ป่วยนำมาให้ดูเป็นหลักฐาน เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกในด้านลบและไม่กลับมารับการรักษาอีก แพทย์อาจต้องใช้วิธีให้ยาแก้คันเพื่อรักษาตามอาการ, ให้การรักษาแผลซึ่งเกิดจากการแกะเกา และพิจารณาการให้ยาต้านจิตเวชไปในครั้งแรกก่อนโดยเลี่ยงบอกผู้ป่วยว่าเป็นยาบรรเทาอาการคันและช่วยฆ่าปรสิตที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค เช่นยา Pimozide, Risperidone, Aripipazole และ Olanzapine แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้มักพบผลข้างเคียงต่างๆ ได้บ่อย จึงมักแนะนำให้มีจิตแพทย์ร่วมดูแลผู้ป่วยเสมอ
การให้กำลังใจกับผู้ป่วยเป็นสิ่งจำเป็นเสมอโดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มนี้ เขาและเธอเหล่านี้มักถามแพทย์และญาติเสมอว่า ตนเองมีความผิดปกติทางจิตหรือไม่ สิ่งที่แพทย์และญาติควรให้คำตอบแก่ผู้ป่วยคือ เข้าใจว่าผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานจริง และจะพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างมากที่สุด นอกจากนี้ การให้การบำบัดทางจิต (Psychotherapy) จะช่วยให้ผู้ป่วยในกลุ่มนี้หายจากโรคนี้ในเร็ววัน
บทความโดย พญ.เมธาวี บุญศิริ
แพทย์ผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ แพทย์เฉพาะทางผิวหนังพรกษมคลินิก
เอกสารอ้างอิง
Diagnosis and management of delusional parasitosis. Elliott H. Campbell, BSc • Dirk M. Elston, MD • JAAD 2018.12.012