พอหน้าฝนอากาศชื้น เห็ดราเติบโตกันอย่างรวดเร็ว ทำไงดี? จะติดโรคจากเชื้อราอันตรายไหม?
หน้าฝนอากาศชื้น “เชื้อรา” เกิดขึ้นได้รอบๆตัวเรา ซึ่งเชื้อรามีทั้งแบบก่อโรคและไม่ก่อโรค แต่เราก็สามารถป้องกันโรคนี้ได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่มีปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดเชื้อรา โดยเฉพาะผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่ดีและผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
เชื้อราแบบก่อโรค แบ่งได้ 3 ชนิด ดังนี้
- เชื้อราบนผิวหนังตื้นๆ พบได้บ่อยที่สุด เช่น โรคกลากจากเชื้อรากลุ่ม Dermatophyte เชื้อราชนิดนี้จะเจาะชั้นหนังกำพร้า (Karatin) ลักษณะเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจนรูปร่างคล้ายวงแหวนมีขุยที่ขอบวงแหวน มีอาการคันทำให้ผิวไม่สวยแต่ไม่มีอันตรายถึงชีวิต ซึ่งเกิดได้หลายตำแหน่งของร่างกาย สามารถเป็นได้ทั้งผิวหนัง เล็บ และศรีษะ การติดต่อของโรคกลากเกลื้อนอาจจะติดจากดิน สัตว์เลี้ยง หรือติดจากคนสู่คนก็ได้ โดยติดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น ใช้เสื้อผ้า ผ้าขนหนู หรือรองเท้าร่วมกัน
ส่วนโรคเกลื้อน เป็นเชื้อบนผิวมนุษย์เอง จะเห่อเมื่อมีการหมักหมมของเหงื่อหรือเวลาอากาศร้อนจัดๆ เหงื่อออกมาก โรคเกลื้อนเกิดจากเชื้อยีสต์กลุ่ม Pityrosporum ลักษณะเป็นผื่นดวงขาว ค่อนข้างชัด บางครั้งมีสีออกน้ำตาล มักจะมีอาการคัน แต่น้อยกว่ากลาก จะมีอาการคันเวลามีเหงื่อออกหรืออากาศอับชื้น และมักเป็นบริเวณผิวหนังลำตัว หลังต้นแขน ที่มีต่อมไขมันเยอะๆ จะไม่ค่อยเป็นที่มือ เท้า ขา ต่างกับโรคกลาก - เชื้อราบนผิวหนังชั้นลึก เป็นเชื้อราคนละชนิดกับกลากเกลื้อน พบไม่บ่อยนัก เชื้อราชนิดนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้นด้วยเนื่องจากอุบัติเหตุ หกล้ม เพราะบาดแผลจะเป็นประตูหรือช่องทางให้เชื้อราสามารถเข้าไปในผิวหนังชั้นลึกๆได้ อาจจะพบได้กับผู้ป่วยในกลุ่มที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีนัก
- เชื้อราที่กระจายทั้งตัว มักพบในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ (AIDS) หรือผู้ป่วยที่กำลังรักษาโรคมะเร็ง โดยการรับยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
เราจะหลีกเลี่ยงเชื้อราได้อย่างไร?
เมื่อต้องสัมผัสดินหรือทำสวนควรใช้ถุงมือ ใส่รองเท้า โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น โรคเบาหวาน ควรจะป้องกันเชื้อรามากเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลบนผิวหนัง ควรใช้เครื่องป้องกัน เช่น สวมรองเท้าบู๊ตหากต้องลุยน้ำ ถ้ามีสัตว์เลี้ยงต้องคอยสังเกตผิวหนังสัตว์เลี้ยงว่ามีผื่นไหม เพราะอาจจะมีเชื้อราอยู่ที่ผิวหนังของสัตว์ หรือบางทีสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีผื่นก็อาจจะมีสปอร์ของราอยู่ เช่น แมวเปอร์เซีย เป็นต้น
สำหรับเชื้อกลากบนหนังศีรษะนั้น เวลาไปร้านตัดผมควรเลือกร้านที่คุ้นเคยและร้านที่ดูแลทำความสะอาดเครื่องมือในการบริการเป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากเชื้อราแล้วควรระวังเรื่องเหาด้วยเช่นกัน
เชื้อราแบบไม่ก่อโรค
สำหรับเชื้อราที่ขึ้นตามกำแพงเวลาฝนตกหนักๆ เกิดน้ำขังหรือในท่อแอร์ ขึ้นเป็นคราบเขียวๆ ดำๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อราที่ไม่ก่อโรคโดยตรง จากการที่เชื้อรามากัดกินเนื้อเยื่อ แต่เชื้อราบางชนิดจะปล่อยฝุ่นราเข้ามาในอากาศทำให้คนที่ไวต่อเชื้อชนิดนี้เกิดอาการแพ้ (Allergy) ถ้าเกิดสัมผัสโดนผิวก็จะขึ้นลมพิษ เมื่อหายใจเข้าไปอาจเกิดอาการคัดจมูกหรือหายใจหอบ ในกรณีที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว อาจจะจับหืดได้ ควรจะรักษาความสะอาดและกำจัดเชื้อราเป็นประจำสม่ำเสมอ
บทความโดย พญ.ปิยะดา ทิพรังกร
ตารางเวรเเพทย์ สามารถค้นหา (Search) ชื่อเเพทย์หรือสาขา