เป็นเริมที่ปากบ่อยๆทำไงดี

“เริม” มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสๆเล็กๆที่มักขึ้นบริเวณริมฝีปาก ใครเป็นก็จะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนทุกครั้ง บางคนถึงขนาดมีไข้ร่วมด้วย และที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ เชื้อจะหลบซ่อนอยู่ในร่างกายเราและจะกำเริบขึ้นมาเวลาร่างกายเราอ่อนแอจึงเป็นโรคที่เป็นๆหายๆ

 

เริมเกิดขึ้นได้อย่างไร

เริมที่ปากเกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ Herpes simplex virus ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน โดยใช้ช้อนเดียวกันหรือการใช้ของร่วมกัน เช่น ใบมีดโกน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน หรือแม้กระทั่งการจูบปากและการมี Oral sex

เริมที่ปากหากเป็นครั้งแรกอาการจะรุนแรงมากกว่าตอนเป็นในครั้งถัดไป และมักทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม

 

ลักษณะอาการของเริม

จะพบเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำใสๆบริเวณรอยต่อระหว่างริมฝีปากและผิวหนัง หากเป็นมากอาจเป็นทั้งปากได้ บางรายมีไข้ร่วมด้วย ต่อมน้ำเหลืองโต ตุ่มน้ำมักแตกออกเป็นน้ำเหลืองใสๆและแห้งตกสะเก็ด มักมีอาการเจ็บแสบร้อนร่วมด้วย

หลังจากเคยเป็นเริมที่ปากครั้งแรกแล้ว เชื้อไวรัสจะไปหลบซ่อนภายในปมประสาท ต่อมาเมื่อร่างกายอ่อนแอลง เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือตากแดดนานๆ เชื้อไวรัสนี้ก็จะออกจากปมประสาทมายังบริเวณที่เคยมีการติดเชื้อครั้งแรก ทำให้เริมที่ปากเป็นๆหายๆได้

 

ถ้าหากอาการเริมกลับมาอีกครั้งและเริ่มเป็นบ่อยๆทำไงดี

โดยปกติเมื่อเป็นเริมที่ปากซ้ำในครั้งหลังๆ ถ้าเป็นไม่มากอาจหายเองได้ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากต้องการให้หายไวขึ้น สามารถรับประทานยาฆ่าเชื้อไวรัส Acyclovir และจะได้ผลดียิ่งขึ้นหากรับประทานยาภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ

 

การรักษา

  • หากเป็นครั้งแรกแนะนำให้รับประทานยา Acyclovir (400 mg.) 1 เม็ด 3 มื้อ 7 วัน
  • หากเป็นซ้ำ และต้องการให้หายเร็วให้รับประทานยา Acyclovir (400 mg.) 1 เม็ด 3 มื้อ 5 วัน
  • ส่วนยาทา Acyclovir cream อาจใช้ทาบริเวณที่เป็นร่วมด้วยก็ได้

 
ทั้งนี้การใช้ยาในการรักษาเริมควรเป็นไปตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัดและควรรับคำปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางผิวหนังเท่านั้น

บทความโดย พญ.สุณี เจริญหิรัญยิ่งยศ
ตารางเวรเเพทย์ สามารถค้นหา (Search) ชื่อเเพทย์หรือสาขา คลิก>>

icon