จริง หรือ หลอก “กัญชา” ทางเลือกใหม่ของการรักษาโรคผิวหนัง
เรียกได้ว่าตอนนี้มีการพูดถึงกันอย่างมากมายเกี่ยวกับเรื่องกัญชา อีกทั้งวงการแพทย์ที่มีการศึกษาเรื่องกัญชาเพื่อนำมาใช้อย่างถูกวิธี และนำไปรักษาอาการต่างๆ ในร่างกายรวมไปถึงโรคผิวหนัง หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าการรักษาโรคผิวหนังจะมีผลลัพธ์อย่างไรบ้าง วันนี้พรเกษมคลินิกได้รวบรวมคำตอบมาให้เพื่อนๆ แล้ว ไปดูกันได้เลย
กัญชา ช่วยลดอาการอักเสบของผิวหนังได้จริง !
มีผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้กัญชาพบว่า อาการของโรคผิวหนังอย่าง การคัน บวม อักเสบ รวมไปถึงการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง กัญชาสามารถช่วยบรรเทาได้ ก่อนหน้านี้เพื่อนๆ อาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับการใช้กัญชาบรรเทาอาการต่างๆ เช่น อาการปวดเรื้อรัง อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ โรคเบื่ออาหารและคลื่นไส้ เนื่องจากกัญชามีสารประกอบแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ที่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้ โดยตัวสารที่ออกฤทธิ์ต่อประสาท และไม่มีฤทธิ์สารเสพติด คือ Delta-9-Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD)
ต่อมาได้มีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่ากัญชาสามารถใช้บรรเทาอาการทางโรคผิวหนัง เช่น คัน, บวม, แพ้ รวมไปถึงช่วยระงับการอักเสบของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) และโรคผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis) ได้อีกด้วย
จึงเกิดเป็นข้อสันนิษฐานต่อมาว่ากัญชาอาจมีประโยชน์สำหรับการรักษาโรคดังต่อไปนี้
- โรคสะเก็ดเงิน และมะเร็งผิวหนัง จากคุณสมบัติที่สามารถช่วยยับยั้งเซลล์ผิวหนังไม่ให้สร้างออกมาเยอะเกินไป
- สิว และรังแคอักเสบ จากการสกัดเมล็ดกัญชาแล้วนำไปทารักษา พบว่าช่วยลดอาการแดง และผิวมันได้
แต่กัญชานั้นอาจไม่เป็นมิตรกับเซลล์ผมของเรา อีกทั้งยังสามารถเพิ่มอาการอักเสบของผิวหนังได้ด้วย
อย่างไรก็ตามมีผลการศึกษาที่พบว่า การใช้กัญชารักษาโรคผิวหนังนั้น อาจทำให้เกิดการอักเสบได้เช่นเดียวกัน รวมไปถึงผลของการรักษาที่ใช้กัญชาเข้าไปช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิด ก็จะลดการเจริญเติบโตของเซลล์ผมไปด้วย
ดังนั้นจึงอาจบอกได้ว่า ทางเลือกของการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาอาจไม่ใช่คำตอบแรก และเราควรอดใจรอให้มีการศึกษาวิจัยทางด้านกัญชาที่มีประสิทธิภาพ หลากหลาย และมีความปลอดภัยมากกว่านี้ก่อน ซึ่งคิดว่าในอนาคตกัญชาอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีประโยชน์กับผู้ป่วย และวงการแพทย์อย่างแน่นอนค่ะ