ฝ้ารักษาอย่างไรให้ปลอดภัย
ฝ้าเป็นความผิดปกติของเม็ดสีผิวที่พบบ่อยที่บริเวณใบหน้า มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (90% : 10%) โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยกลางคน อายุประมาณ 30-40 ปี สาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดฝ้าในปัจจุบันยังไม่ทราบ แต่พบว่ามีข้อสันนิษฐานของสาเหตุหลายอย่าง เช่น แสงแดด ร่วมกับการทำงานที่มากเกินไปของเซลล์เม็ดสีที่บริเวณผิวหนัง ชนชาติที่พบฝ้าได้บ่อยคือ ละตินอเมริกา เอเชีย แอฟริกา และชาวอาหรับตามลำดับ พันธุกรรม มีรายงานพบว่าเป็นฝ้าในครอบครัวได้ถึงเกือบ 50% และฮอร์โมนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝ้าด้วยสังเกตช่วงขณะตั้งครรภ์จะพบได้บ่อยเช่นกัน
สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดฝ้ายังไม่เป็นที่ทราบชัด ตามทฤษฎีเชื่อว่าฝ้าเกิดจากการที่ เซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) หรือเซลล์ที่สร้างเม็ดสีทำงานมากขึ้นกว่าปกติ จึงสร้างเม็ดสี (Melanin) ออกมามากกว่าเดิม เม็ดสีที่ถูกลำเลียงสู่ผิวชั้นบนสุดหรือชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) มีลักษณะเข้มและขอบชัดสีน้ำตาลเข้มหรือดำ เรียกว่า ฝ้าตื้น ส่วนเม็ดสีที่อยู่ใต้ต่อชั้นหนังกำพร้าลงมาในชั้นหนังแท้ (Dermis) มักจะมีสีอ่อนกว่าชนิดฝ้าตื้น โดยอาจมีสีน้ำตาลอ่อน สีเทา สีน้ำตาลเทาหรือสีม่วงอมน้ำเงิน ขอบเขตไม่ชัด เรียกว่า ฝ้าลึก โดยคนไข้ส่วนมากมักมีฝ้าทั้ง 2 ชนิดปนกัน(Mixed type) เป็นชนิดที่พบมากสุด
ลักษณะของฝ้าเป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลเข้ม อาจมีสีเทา สีดำ สีม่วงอมน้ำเงิน ขึ้นกับชนิดของฝ้าตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือบริเวณใบหน้าที่มีโอกาสสัมผัสกับแสงแดดมากๆ เช่น โหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง, หน้าผาก, ขมับ, เหนือริมฝีปาก จมูกและคาง มักเป็นทั้งด้านซ้ายและขวา การวินิจฉัยโรค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนัง จะตรวจสอบสภาพผิวหน้าโดยแยกภาวะฝ้าตื้นหรือฝ้าลึกฝ้าผสมหรือฝ้าเลือด
ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้า
- ในพันธุกรรม พบได้ร้อยละ 30-50 ถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นฝ้าก็จะมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดฝ้าได้มากกว่าคนปกติ
- แสงแดด เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการเกิดฝ้า ทั้ง UVA,UVB และ visible light (แสงที่ตามองเห็น) เป็นสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์เม็ดสี ยิ่งโดนแดดมากหรือเป็นเวลานานๆ ก็ยิ่งทำให้ฝ้าเข้มขึ้น
- ฮอร์โมน ซึ่งมีผลทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานมากขึ้น เช่น ในภาวะตั้งครรภ์, การทานยาคุมกำเนิด รวมทั้งยาทดแทนฮอร์โมนที่ได้รับเพื่อรักษาภาวะหมดประจำเดือน
- การรับประทานยาบางอย่างเช่น ยากันชัก (Phenytoin) และตัวยาที่มีปฏิกิริยาไวต่อแสง (photo toxic) อาจทำให้ฝ้าเข้มขึ้นกว่าเดิม
- ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนประกอบที่ระคายเคืองต่อผิว อาจทำให้ฝ้าแย่ลงกว่าเดิม
ปัจจัยเหล่านี้คือสาเหตุที่ก่อให้เกิดฝ้าหรือฝ้าเข้มขึ้นเมื่อเราทราบถึงเหตุปัจจัยแล้วควรหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฝ้า หรือป้องกันฝ้าที่มีอยู่แล้วไม่ให้เข้มไปกว่าเดิม
การรักษาฝ้า
- ฝ้าสามารถจางลงได้เองในกรณีสาเหตุกระตุ้นหายไปหรือลดลง เช่น ภาวะการตั้งครรภ์ หลังคลอด ดีขึ้นจางลง หรือหยุดยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทน
- ใช้ยาทาที่มีประสิทธิภาพช่วยกำจัดเม็ดสีที่มากกว่าปกติ ปลอดภัย ไม่ระคายเคือง หรือทำให้เกิดผลข้างเคียง และปราศจากสารปรอท ร่วมกับยารับประทานวิตามินกลุ่ม antioxidant และยาลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน
- รักษาด้วย AHA ทรีทเมนต์ ช่วยให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพออกไปและเร่งการสร้างเซลล์ผิวใหม่ทำให้หน้าขาวเนียนใส รอยคล้ำจางลงและลดริ้วรอยตื่นๆของผิวหนังชั้นนอกได้อีกด้วย
- รักษาด้วยการใช้เครื่องมือทางการแพทย์เป็นตัวนำพาวิตามินเข้มข้นเข้าสู่ได้ผิวหนังลดรอยคล้ำฝ้าด้วยความนุ่มนวลและปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพและยังเป็นการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนให้แก่ผิวหน้าในระหว่างการรักษาอีกด้วย เช่น Rejuvenation และ Ultralift, Duo bright, MD white
- เลเซอร์ที่ลดเลือนเม็ดสี เช่น เลเซอร์ NdYAG ( โปรเเกรม Gentle Clear , Derma Bright )
- เลเซอร์ลดฝ้าเลือด เช่น Vbeam (E-lase) ลดขนาดและจำนวนเส้นเลือดซึ่งเป้นตัวนำพาเม็ดสี รวมทั้งตัวกระตุ้นการสร้างเม็ดสี
- การฉีดยาสลายฝ้า ได้ผลดีรวดเร็วแต่ยังจำเป็นที่ต้องทำต่อเนื่อง การใช้ยาฉีดที่มีประสิทธิภาพปลอดภัยรวมทั้งขั้นตอนการรักษาควรอยู่ในความดูแลควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง *ข้อควรระวัง*ไม่ทำการรักษาวิธีนี้ในกรณีเป็นโรคประจำตัวบางอย่างหรือใช้ยาบางชนิดที่เป็นข้อห้ามในการฉีด
- การรักษาฝ้านั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานและควรมีวินัยในการใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน
- ยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถรักษาฝ้าให้หายขาด เพียงแค่ทำให้ดีขึ้นหรือจางลง
แพทย์ผู้ทำการรักษาจะใช้ยาทาร่วมกันหลายขนานที่ช่วยส่งเสริม ประสิทธิภาพและลดการเกิดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น จากยาบางตัว ที่ใช้ร่วมกัน ยารับประทานเพื่อช่วยลดรอยดำฝ้า วิตามินบางชนิดเช่น วิตามินA,C,E และยากลุ่มลดการสร้างเม็ดสีอื่น ยาทาที่ช่วยให้ฝ้าจางลง ได้แก่ ไฮโดรคิวโนน (โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้), Azelaic acid,Kojic acid, Topical steroid ,Glycolic acid, Mequinol, Arbutin
การป้องกัน
การรักษาฝ้าเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา การป้องกันไว้ก่อนจึงย่อมดีกว่าอย่างแน่นอน
- ลดปัจจัยเสี่ยง การหลบเลี่ยงแสงแดดอย่างจริงจัง เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันการเกิดฝ้าที่ได้ผล โดยเฉพยาะในช่วง 10 โมงเช้า ถึงบ่าย 4 โมงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่มีแสงยูวีเข้มข้นที่สุด
- ควรใช้ครีมกันแดดที่กันได้ทั้ง UVA UVB มีค่าป้องกัน SPF มากกว่า 30 ขึ้นไป (ป้องกัน UVB)และค่าป้องกัน PA (ป้องกัน UVA) มากกว่า + 2 ขึ้นไป ดังนั้นแนะนำให้ใชกันแดด SPF 50+++ / PA++ทาทั่วหน้าทุกวัน (ในกรณีที่สามารถทำได้) ควรทาอย่างน้อย 30 นาทีก่อนออกแดดและทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง
- ป้องกันโดยสวมหมวกปีกกว้าง ใช้ร่ม ใช้เครื่องสำอางกันแดด
- การหยุดยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนโดยเลือกใช้วิธีการอื่นในการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพแทน
- หยุดใช้ยาหรือเครื่องสำอางที่กระตุ้นให้ฝ้าคล้ำเพิ่มขึ้น (ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์)
- ป้องกันโดยสวมหมวกปีกกว้าง ใช้ร่ม ใช้เครื่องสำอางกันแดด
- ควรหลีกเลี่ยงความร้อนด้วย, การ Sauna, อบไอน้ำ, โยคะร้อน ล้วนมีส่วนกระตุ้น ในกรณีฝ้าเลือดที่มีจำนวนเส้นเลือดมากผิดปกติบริเวณฝ้าเมื่อได้รับความร้อนจะเพิ่มการไหลเวียน นำเม็ดสีมาเพิ่มทำให้ฝ้าดูเข้มขึ้น
- ระวังไม่ใช้ยาที่มีส่วนผสมของไฮโดรคิวโนนมีความเข้มข้นสูงกว่าที่มาตรฐานทางการแพทย์กำหนด (มากกว่า 2%) เพราะทำให้เกิดผลข้างเคียง ภายในระยะสั้นคือฝ้าแดงดำคล้ำกว่าเดิมจากการระคายเคืองและไวต่อแดด ระยะยาวเกิดจุดสีดำอมเทาคล้ายฝ้า (ochronusis) ในคนที่ใช้ความเข้มข้นสูงต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้นการใช้ยาชนิดนี้จึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
- ระวังไม่ใช้ยาหรือครีมที่มีส่วนผสมของสารปรอทโดยเด็ดขาดเพราะทำให้เกิดรอยด่างขาว(hypopigment) และฝ้าถาวร
- ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังถึงความเหมาะสมทั้งชนิดวิธีการรักษา การปฏิบัติตัว การใช้ยา ชนิดของยา ปริมาณและระยะเวลา ทั้งยากินและยาทารวมทั้งหัตถการอื่นๆ การรักษาฝ้าด้วยเลเซอร์ ในปัจจุบันมีการใช้เพื่อรักษามากขึ้นแต่ยังไม่มีชนิดใดที่ช่วยให้หายขาดการดูแลป้องกันยังเป็นสิ่งพึงกระทำตลอดชีวิต ผู้รับการรักษาควรศึกษาและได้รับคำแนะนำรวมทั้งทราบผลคาดหวังที่จะได้รับจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังและเลเซอร์ก่อนการพิจารณาทำ เพื่อความปลอดภัยและสัมฤทธิ์ผลสูงสุด
การใช้หลายๆวิธีร่วมกันจะให้ผลการรักษาสูงสุดควรได้รับคำแนะนำและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังจะทำการประเมินและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลจะปลอดภัยมากขึ้นค่ะ
บทความโดย พญ.ประสมศรี สวัสดิ์อำไพรักษ์