Sclerotherapy Program

สาขาที่ให้บริการ

เส้นเลือดขอดที่ขาเกิดจากการเสื่อมสภาพของลิ้นกั้นในผนังหลอดเลือด ซึ่งทำหน้าที่เหมือนวาวล์ในท่อน้ำ ป้องกันไม่ให้เลือดดำไหลย้อนกลับ ทำให้เลือดดำไหลกลับจากปลายเท้ากลับขึ้นไปที่หัวใจทิศทางเดียว เมื่อมีการเสื่อมของลิ้นกั้นนี้ทำให้เลือดไหลย้อนกลับไปที่ปลายเท้า และเกิดการคั่งของเลือดในเส้นเลือดดำ เมื่อระยะเวลาผ่านไป ความดันในหลอดเลือดที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดผนังหลอดเลือดมีการขยายตัว เกิดการโป่งพองของหลอดเลือด ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดตามมา

เส้นเลือดขอดสาเหตุเกิดจากอะไร ?
สาเหตุการเสื่อมสภาพของลิ้นในผนังหลอดเลือด เกิดจากอายุที่มากขึ้น พันธุกรรม รวมถึงปัจจัยที่ทำให้ความดันเลือดภายในเส้นเลือดเพิ่มมากกว่าปกติ ได้แก่ การนั่งหรือยืนนานๆ การตั้งครรภ์ การที่มีก้อนเนื้อในช่องท้องไปกดเส้นเลือดภายในช่องท้อง

เส้นเลือดที่เห็นผิดปกติแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1.เส้นเลือดฝอยขนาดเล็ก (Spider Vein)
เส้นเลือดฝอยขนาดเล็กจะอยู่ในชั้นตื้นๆ เห็นเป็นเส้นเลือดสีแดงไปจนถึงสีน้ำเงิน เส้นเลือดประเภทนี้จะไม่มีอาการ แต่มีผลในแง่ความสวยงาม นอกจากที่ขาแล้ว ยังพบได้ในบริเวณอื่น เช่น ใบหน้า หน้าอก เป็นต้น
  2.เส้นเลือดดำขนาดใหญ่ (Varicose Vein)
เส้นเลือดดำขนาดใหญ่ จะเห็นเป็นสีม่วงถึงสีฟ้า ในระยะเริ่มต้นจะเป็นเส้นตรงไม่คดเคี้ยว ในรายที่เป็นมากเส้นเลือดจะปูดนูนจากผิวหนัง และมีลักษณะคดเคี้ยว
 
 
อาการที่เกิดจากเส้นเลือดขอด
  • ในระยะแรก ในระดับเส้นเลือดฝอยขนาดเล็ก จะเป็นปัญหาเรื่องความสวยงาม ไม่มีอาการผิดปกติ เมื่อเป็นมากขึ้น จะเริ่มมีอาการปวดเมื่อยที่ขาง่าย เป็นตะคริว
  • ในรายที่เส้นเลือดโป่งพองมากๆ อาจจะเกิดการฉีกขาดที่ผนังหลอดเลือดทำให้เกิดเลือดออกง่าย ในกรณีที่มีเลือดคั่งในเส้นเลือดนานๆ ทำให้เกิดลิ่มเลือดแข็งตัวในเส้นเลือดร่วมกับหลอดเลือดดำอักเสบ
  • ผลจากการที่มีเลือดคั่งอยู่ในเส้นเลือดดำนานๆ ทำให้การไหลเวียนของน้ำเหลืองที่เท้าไม่ดี ส่งผลให้เกิดการบวมที่หลังเท้า ตามมาด้วยการบวมที่ขา ในระยะเรื้อรัง ผิวหนังบริเวณนี้จะค่อยๆเปลี่ยนสภาพไปเป็นผิวหนังที่แข็งขึ้น เป็นแผลได้ง่าย และมักจะเป็นแผลเรื้อรัง หายช้า

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดฝอยขอด

  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้น ความยืดหยุ่นของเส้นเลือดจะลดลงเนื่องจากมีความเสื่อมของเส้นใยอิลาสติกที่ผนังเส้นเลือด รวมถึง ความแข็งแรงของลิ้นในเส้นเลือดที่ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น
  • เพศ ผู้หญิง มีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงมีผลทำให้ผนังเส้นเลือดคลายตัว ดังนั้น ในช่วงการตั้งครรภ์ หรือการทานยาคุมมีผลทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้มากกว่าปกติ นอกจากนี้ ในระยะที่อายุครรภ์มากขึ้น ขนาดมดลูกโตขึ้น มีการกดเส้นเลือดดำในช่องท้อง ส่งผลให้เลือดดำจากขา ไหลผ่านช่องท้องเพื่อกลับไปที่หัวใจได้ยากขึ้น
  • น้ำหนักตัว คนอ้วน มีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดมากกว่า เนื่องจากน้ำหนักตัวมีผลต่อความดันในเส้นเลือดดำที่ขา
  • ภาวะการยืนหรือนั่งนานๆ ทำให้การไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดลดลง จากการที่กล้ามเนื้อน่องและกล้ามเนื้อขาไม่เคลื่อนไหว ทำให้เลือดคั่งในเส้นเลือดมาก ความดันในเส้นเลือดก็จะสูงขึ้น โดยมากจะพบในอาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งนานๆ เช่น ศัลย์แพทย์ ครู ทหาร ช่างทำผม เป็นต้น
  • ภาวะที่มีความดันในช่องท้องมากกว่าปกติ ส่งผลให้เลือดดำจากส่วนขาไม่สามารถไหลเวียนผ่านเส้นเลือดในช่องท้องได้อย่างสะดวก เช่น การตั้งครรภ์ ภาวะท้องผูกเรื้อรัง การที่มีเนื้องอกหรือก้อนในช่องท้อง เป็นต้น

 

การรักษาโดยการฉีดยาสลายเส้นเลือดขอด (Sclerotherapy)

การฉีดยาเพื่อทำให้เกิดการสลายเส้นเลือด โดยการทำให้เกิดการทำลายผนังหลอดเลือดของเส้นเลือดขอด เส้นเลือดที่โป่งพองจะเกิดการอักเสบ ตีบแคบลง หลังจากการฉีด 2 - 3 สัปดาห์ เส้นเลือดขอดก็จะยุบและหายไป การรักษาโดยการฉีดยาสามารถทำได้ในเส้นที่มีขนาดน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร โดยที่ยังไม่มีความผิดปกติของลิ้นในเส้นเลือดขนาดใหญ่ หรือใช้ฉีดเส้นเลือดขอดที่ยังเหลือหลังการผ่าตัดเส้นเลือดขอดเส้นใหญ่ ภายหลังการฉีดยารักษาผู้ป่วยควรเดินอย่างต่อเนื่องประมาณ 30 นาทีทันทีหลังการฉีดยา เพื่อช่วยให้ยากระจายตัวได้ดีขึ้น และควรสวมถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาฉีดให้ได้ผลดี โดยควรสวมติดต่อกันอย่างน้อย 5 - 7 วัน (ยกเว้นในกรณีที่อาบน้ำ)

 

 

ข้อห้ามในการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำ

การมีประวัติการแพ้สารที่ใช้ฉีด มีเส้นเลือดอักเสบ หรือเส้นเลือดขอดมีขนาดใหญ่ร่วมกับปัญหาเส้นเลือดดำส่วนลึก การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง (Dermatologist) และรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยคือประมาณ 3 - 4 ครั้งต่อข้าง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1 เดือนครึ่ง - 2 เดือน ซึ่งจำนวนครั้งในการรักษาขึ้นกับปริมาณเส้นเลือดขอดที่เป็นด้วย วิธีนี้เป็นการรักษาที่ไม่หายขาด ในระยะยาวอาจมีการกลับมาเป็นซ้ำของเส้นเลือดขอดได้อีก ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงที่มี

 

ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการฉีด

พบได้ไม่บ่อย แต่อาจเป็นอันตรายรุนแรงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและความเข้มของยา

  • บริเวณที่ฉีดอาจมีอาการปวด บวมแดง มีเลือดออก หรือมีรอยจ้ำเขียวจากการมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ซึ่งจะหายไปได้เอง
  • อาจเกิดรอยคล้ำตามแนวเส้นเลือดที่ฉีด ซึ่งจะค่อย ๆ จางหายไปได้เองเช่นกัน
  • อาจเกิดอาการแพ้ยาที่ฉีด โดยในรายที่เป็นไม่มากอาจมีแค่อาการคันหรือมีผื่น แต่ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนทำให้เสียชีวิตได้
  • ในกรณีที่ฉีดยาไม่เข้าเส้นเลือดอาจเป็นเหตุทำให้ผิวหนังมีสีเข้มขึ้นหรืออาจเกิดแผลบริเวณผิวหนังได้
  • การฉีดยาในปริมาณมากอาจทำให้เกิดเส้นเลือดอักเสบได้
 

การป้องกันการเกิดโรคเส้นเลือดขอด 

การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ความดันในหลอดเลือดดำที่ขาเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งนานๆ ควรขยับ เคลื่อนไหว เท้า,ขา เพื่อให้กล้ามเนื้อช่วยบีบรัด ช่วยให้เกิดการไหลเวียนของเลือดเลือด
  • ลดน้ำหนัก ในรายที่น้ำหนักตัวมาก
  • ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น
  • ไม่ใส่รองเท้าส้นสูง เลือกใส่รองเท้าส้นเตี้ยซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ดีกว่ารองเท้าส้นสูง
  • สวมถุงน่องป้องกันเส้นเลือดขอด
  • ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง

แพทย์ที่ชำนาญการด้าน

Sclerotherapy Program

Link Review Detail

พญ.กนลรัตน์ บูชางกูร

Link Review Detail

พญ.ประสมศรี สวัสดิ์อำไพรักษ์

Link Review Detail

พญ.อนุธิดา เชาว์วิศิษฐ์เสรี

Link Review Detail

นพ.กิตติ จิตตรีประเสริฐ

Link Review Detail

นพ.พีระ อุดมจารุมณี

Link Review Detail

พญ.ปิยกานต์ ลิมธัญญกูล

Link Review Detail

พล.อ.ท.นพ.ปราการ ฉัตรชัยการ

Link Review Detail

นพ.สราวุธ บุญปสาท

Link Review Detail

นพ.สุรเชิด ต่างวิวัฒน์

Link Review Detail

พญ.ศศิธร ธัญรัตนศรีสกุล

Link Review Detail

พญ.วรวี ตันติแพทยางกูร

Link Review Detail

นพ.อภิยุช เนตตกุล

Link Review Detail

พญ.สุพร จุฑามณี

Link Review Detail

พญ.ภัทริดา ภูมิภักดีพรรณ

Link Review Detail

นพ.สรวิศ สุภาวิตา

icon